สภาพแวดล้อมก่อมะเร็ง ตอนที่ 2

การใช้ยาย้อมผม เปลี่ยนสีผม หรือสเปรย์ผม ทำให้เป็นมะเร็งได้หรือไม่ ?



                  สำหรับประเด็นนี้ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนที่ยืนยันว่าการใช้สเปรย์ผมเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น รวมไปถึงมะเร็งปอด แต่ที่น่าแปลกใจคือมีข้อมูลบางชนิดบ่งชี้ว่าการสัมผัสกับสารเหล่านี้ หรือทำอาชีพที่ต้องใช้สารกลุ่มนี้เป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรี



                  มีการวินิจฉัยจากประเทศอังกฤษ พบว่ากลุ่มผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มีประวัติใช้ยาย้อมผมหลายวิธีเป็นประจำ แม้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็นมะเร็งเต้านม ในขณะที่ถ้ามีประวัติเคยใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งของการทำสีผมหรือใช้เพียงสเปรย์ผมอย่างเดียว ไม่สัมพันธ์กับการเกิดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่อย่าลืมว่าสีและเคมีในยาย้อมผมที่สัมผัสกับหนังศีรษะโดยตรงอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ โดยเฉพาะถ้ามีรอยแผลหรือรอยอักเสบอยู่แล้วเป็นต้น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ โดยเฉพาะท่านที่มีแผลอักเสบเรื้อรังบริเวณหนังศีรษะ และไม่ควรจะทำบ่อยเกินไป



ถ้าใช้ยาพ่นฆ่าแมลงในบ้านเป็นประจำจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหรือไม่ ?



                  เป็นที่ทราบกันดีว่ายาฆ่าแมลงนั้นมีสารเคมีอยู่หลายชนิดซึ่งอาจส่งผลให้เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติได้ พบว่ายาฆ่าแมลงสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจริง แต่พบว่าคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดนั้นเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก และใช้เป็นประจำเป็นเวลานานกว่า 5-10 ปี ได้แก่ผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำสวนทำไร่เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าการสัมผัสกับยาฆ่าแมลงที่ใช้ในบ้านไม่ส่งผลให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นมะเร็งชนิดอื่นก็ยังไม่มีรายงานว่าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน



                  นอกจากนี้มีบางอาชีพที่ทราบแน่ชัดว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น ได้แก่ การทำงานในโรงสีทั้งหลาย ซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นการทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ ช่างไม้มีโอกาสสัมผัสกับฝุ่นละอองไม้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีอุบัติการณ์ของมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งจมูก มะเร็งโพรงจมูก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยแต่โชคดีที่ไม่สัมพันธ์กับมะเร็งของระบบทางเดินหายใจในส่วนที่ลึกลงไป เช่น มะเร็งปอด นอกจากนั้นอาชีพที่ต้องทำงานตอนกลางคืน ในผู้หญิงอาชีพที่สำคัญคือพยาบาล ส่วนอาชีพที่ทำงานตอนกลางคืนที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่ ยาม พนักงานโรงงานกะกลางคืน บุคลากรในอาชีพสาธารณสุข เช่น แพทย์ บุรุษพยาบาล พบว่าในผู้หญิง การทำงานกะกลางคืนเป็นประจำเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม โดยมีอุบัติการณ์สูงขึ้นอย่างขัดเจน ส่วนผู้ชายก็มีการศึกษาในแคนาดา พบว่าการทำงานกลางคืนเป็นประจำส่งผลให้มีอุบัติการณ์ของมะเร็งหลายชนิดเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน มะเร็งเหล่านี้ ได้แก่ มะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ตับอ่อน และรวมไปถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย โดยเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่ระบบฮอร์โมนเมลาโตนินถูกรบกวนเนื่องจากการสัมผัสกับแสงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาปกติที่คนเราควรจะนอนพักผ่อนและมีการหลั่งสารเมลาโตนินนั่นเอง อ่านมาถึงตรงนี้ท่านที่ชอบนอนดึกอาจเริ่มกังวลใจ อย่างไรก็ตามการศึกษาที่บอกว่าอุบัติการณ์มะเร็งเพิ่มขึ้นนั้นให้ลักษณะการทำงานกะดึกไว้ว่า ต้องเป็นการทำงานที่ผู้ทำงานต้องตื่นและสัมผัสแสงไฟในเวลาตี 1 ถึงตี 2 เป็นประจำเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ดังนั้นใครที่นอนดึกบ้างแต่ไม่ถึงคำจำกัดความนี้ก็คงรอดตัวไป



                  จะเห็นได้จากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ ลักษณะนิสัยการรับประทาน ตลอดจนถึงลักษณะงานของเราอาจส่งผลกับร่างกายเราได้โดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ควรกังวลเกินเหตุ ขอให้ท่านยึดแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือ “ทางสายกลาง” ถ้าเรากินอยู่แบบพอดี ทำงานพอดีไม่ต้องถึงขนาดหามรุ่งหามค่ำ หาเวลานอนหลับพักผ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ธรรมชาติกำหนดให้เป็นเวลานอนปกติ และพยายามสัมผัสกับฝุ่นละออกและสารพิษในชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด ทุกท่านก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข



เรียบเรียงโดย : ผศ.พญ. เอี่ยมแข สุขประเสริฐ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางเคมีบำบัด



Date :

©2015, โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

ที่อยู่ 199 หมู่.12 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
โทรศัพท์ 054-335262-8 โทรสาร 054-335273
email : saraban@lpch.go.th