สภาพแวดล้อมก่อมะเร็ง ตอนที่ 1

                  เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมคนเป็นมะเร็งมากขึ้นทุกวัน จนปัจจุบันมะเร็งกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย บางคนดูไม่น่าที่จะมีความเสี่ยง เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว แต่กลับกลายเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งตับได้ เป็นไปได้ไหมที่สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ทั้งที่บ้านและที่ทำงานอาจส่งผลกระทบกับร่างกาย ทำให้กลายเป็นมะเร็งได้



ภาวะมลพิษในอากาศส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่ ?



                  ภาวะมลพิษในอากาศมักพบได้ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น ทำให้ต้องผจญกับฝุ่นควันและมลพิษที่เกิดจากท่อไอเสียรถต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสารอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษไม่แพ้กัน คือไนโตรเจนไดออกไซด์ มีการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (fine particles ที่มีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน) ในปริมาณมากมีโอกาสเป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมากกว่า ซึ่งรวมไปถึงอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดด้วย มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือ ทำในเมืองโรม ประเทศอิตาลี่ โดยติดตามประชากรที่อาศัยในโรมมากกว่าล้านคน แบ่งประชากรตามบริเวณที่อาศัยโดยคิดตามระยะทางจากถนนที่มีรถวิ่งปริมาณมากและวัดความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กและปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ พบว่า ประชากรที่มีที่พักใกล้ถนนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้อยกว่า 50 เมตรมีอุบัติการณ์ของโรคระบบทางเดินหายใจรวมถึงมะเร็งปอดสูงกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ห่างถนนใหญ่ออกไปอย่างชัดเจน และที่เป็นของแถมที่สำคัญคือโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีอุบัติการณ์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกันโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้นถ้าเป็นบริเวณที่มีปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์สูง อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งปอดและฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงในชีวิตจริงด้วย การปรับสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เป็นเรื่องยากแต่อาจนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตจริงได้โดยการพยายามที่จะสัมผัสกับมลภาวะนี้ให้น้อยที่สุด เช่น ถ้าจะออกกำลังโดยการวิ่งตามหมู่บ้านหรือถนนก็ควรจะทำตอนเช้าๆ ในตอนที่ยังไม่มีรถหนาแน่น ถ้าจะสวดมนต์ไหว้พระก็อาจหลีกเลี่ยงการจุดธูปเป็นประจำ ซึ่งอาจทำให้ต้องสูดดมควันซึ่งมีทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กและไนโตรเจนออกไซด์ด้วย นอกจากนั้นควันที่เกิดจากการทำอาหารถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงหรือสัมผัสให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นกัน



ข้อมูลโดย : ผศ.พญ. เอี่ยมแข สุขประเสริฐ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางเคมีบำบัด




ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง  "ใส่ใจค้นหา บำบัดรักษาโรคมะเร็งให้คุณ"



ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่



เบอร์โทรศัพท์ 054 – 335262 – 8 ต่อ187




Date :

©2015, โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

ที่อยู่ 199 หมู่.12 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง 52000
โทรศัพท์ 054-335262-8 โทรสาร 054-335273
email : saraban@lpch.go.th