ภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ภัยใกล้ตัวที่คนไทยควรทราบ

"ไวรัสตับอักเสบถือว่าเป็นภัยร้ายใกล้ตัวคนไทย ที่สามารถพัฒนาการไปสู่อาการตับอักเสบ ตับแข็ง สุดท้ายแล้วกลายเป็นโรคมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด   แต่ก็ใช่ว่าโรคนี้จะไม่มีทางรักษาได้ หากเราหมั่นตรวจเช็คสุขภาพก็ย่อมเป็นการป้องกันให้ไกลจากอาการนี้ได้"

ภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง  มักจะไม่แสดงอาการใดๆ ผู้ป่วยอาจมีชีวิตยืนยาวได้เท่าคนปกติ หากพบว่าผู้นั้นมีจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดไม่มากนักและไม่มีร่องรอยที่แสดงว่ามีการอักเสบของเนื้อตับเกิดขึ้น     แต่เราสามารถทราบว่าเราได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ได้จากการตรวจพบแอนติเจนของไวรัสตับอักเสบบีในเลือดโดยเฉพาะแอนติเจนชนิดผิว (Hepatitis-B Surface Antigen หรือ HBsAg) ซึ่งหลายๆ ท่านอาจตรวจพบได้โดย การบริจาคโลหิต ตรวจร่างกายประจำปี และจากการตรวจติดตามเมื่อหายป่วยจากไวรัสโรคตับอักเสบแล้ว เป็นต้น

สาเหตุหลักของภาวะเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 90 ของเด็กเกิดใหม่ จึงเป็นผลมาจากการติดเชื้อจากมารดาเป็นพาหะติดต่อสู่ลูก จนถึงการติดเชื้อในผู้ใหญ่ เนื่องจากในวัยเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานของร่างกายที่เพียงพอที่จะขจัดไวรัสออกจากร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อนี้แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ทำนองเดียวกันกับไวรัส เอชไอวี จากการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่ง การใช้เข็มและสิ่งมีคมร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ตลอดจนการได้รับถ่ายเลือด เป็นต้น

ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีความชุกของภาวะไวรัสตับอักเสบบี ในประชากรไทย ประมาณ 1.7 ล้านคน และจะมีผู้ที่ทยอยป่วยเป็นมะเร็งตับประมาณปีละ 17,000 คน หรือประมาณร้อยละ 1 ต่อปีของผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง  การตรวจหาปริมาณของเชื้อทราบได้จากการวัดปริมาณ ดีเอ็นเอของไวรัส (HBV DNA)ในเลือด หรือการตรวจหา อีแอนติเจน (HBeAg) ในเลือด อาการที่แสดงภาวะมีการอักเสบของเนื้อตับ ผู้ป่วยจะทราบได้จากการตรวจเอ็นซัยม์ตับ (ALT) การตรวจพบอีแอนติเจนในเลือด แสดงว่ามีปริมาณของเชื้อมากและค่าของเอ็นซัยม์ตับที่สูงกว่าปกติแสดงถึงภาวะมีการอักเสบของเนื้อตับ ในประเทศทางตะวันตกที่ประชากรมีความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่ำ พบว่ามีความชุกของอีแอนติเจนต่ำด้วย ส่วนในประเทศทางเอเซียซึ่งมีประชากรมีความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง พบว่ามีความชุกของอีแอนติเจนสูงด้วย ตัวอย่างเช่น การศึกษาในประเทศแคนาดา พบอีแอนติเจน ในผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังเพียงร้อยละ 6 แต่ในประเทศอินเดีย พบอีแอนติเจนในผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 45 และพบว่าร้อยละ 76 ของจำนวนดังกล่าวนี้มีภาวการณ์อักเสบของเนื้อตับเกิดร่วมด้วย

ปัจจัยการเกิดภาวะการอักเสบของเนื้อตับเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด ตับแข็งและมะเร็งตับในเวลาต่อมา

ผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ควรปฏิบัติตนดังนี้ 


     1. งดดื่มเหล้าและสารประเภทแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะสารดังกล่าวซ้ำเติมให้เซลล์เนื้อตับเกิดการอักเสบมากขึ้น 
     2. พบแพทย์เป็นระยะๆ (ทุก 3-6 เดือน) เพื่อติดตามตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสและร่องรอยการอักเสบของเนื้อตับ รวมทั้งตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรก
     3. ผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดสูงและมีร่องรอยการอักเสบของเนื้อตับควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือได้รับทั้งยากินและยาฉีด เพื่อลดจำนวนของเชื้อไวรัสและลดการอักเสบของเนื้อตับ สำหรับยากินต้านไวรัสมีหลายชนิดและต้องกินติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อไวรัสต้านยา ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล

 ข้อมูลโดย ศ.กิตติคุณ นพ.ชัยเวช นุชประยูร  http://www.cccthai.org


ด้วยความปรารถนาดีจาก  โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง  ? ใส่ใจค้นหา  บำบัดรักษาโรคมะเร็งให้คุณ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 054 ? 335262 ? 8 ต่อ187

©2015, การจัดการความรู้

ออกแบบระบบและพัฒนาโดย งานศูนย์ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี
โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง