บุหรี่: ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด

ดร.โยนัส เทเก้น ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย  (Dr.Yonas Tegegn, The WHO Representative to Thailand)  กล่าวว่า  สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก  โดยในปี พ.ศ.  2557  นี้  ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ไว้ว่า Raise taxes on tobacco ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ภาษาไทยว่า ?บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด? และองค์การอนามัยโลกยินดีอย่างยิ่งในการกำหนดประเด็นรณรงค์นี้   โดยการรณรงค์ในปีนี้องค์การอนามัยโลกจะเน้นเชิญชวนให้นานาประเทศทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเองขึ้นภาษียาสูบให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  ซึ่งการบริโภคยาสูบเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ที่สามารถป้องกันได้  การบริโภคยาสูบของประชากรโลกทำให้ผู้คนล้มตายประมาณ 6 ล้านคนในแต่ละปี และมากกว่า 600,000 คน ตายเพราะการได้รับควันบุหรี่มือสอง หากเราละเลยในเรื่องนี้ ในอนาคตไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ค.ศ. 2030 คาดการณ์ว่าจะมีคนตายจากการสูบบุหรี่ถึง 8 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 จะเป็นประชากรที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง

นพ.นพพร  ชื่นกลิ่น  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ  50,710  คน  และเป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่สองของคนไทย  โดยทำให้คนเสียเวลาแห่งชีวิตจากการตายก่อนเวลา  628,061  ปี  และสูญเสียสุขภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184  ปี  ในแต่ละปี  ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย  52,200  ล้านบาท  ซึ่งคิดเป็น 0.5% ของ GDP

ด้าน รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้นำเสนอผลการวิจัยที่ศึกษาถึงทิศทางระบบภาษีและราคายาสูบในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  บทเรียนสำหรับประเทศไทย   รศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า  การที่ประเทศไทยกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงสุด  ทำให้บริษัทบุหรี่ใช้วิธีแจ้งราคาเท็จที่ต่ำกว่าความจริงในการประเมินภาษี หรือนำเข้าบุหรี่ที่มีต้นทุนต่ำเข้ามาจำหน่าย  จากการศึกษาระบบภาษียาสูบของประเทศในภูมิภาคอาเซียน  ประเทศอินโดนีเซียใช้วิธีกำหนดราคาขายต่ำสุด  ทำให้บริษัทบุหรี่มีแนวโน้มที่จะขายบุหรี่ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มกำไร  ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มมาก

รศ.ดร.อิศรา  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในส่วนที่ขณะนี้ประเทศไทยใช้นโยบายสองเลือกหนึ่ง  คือการคำนวณภาษีตามราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้ง  หรือคำนวณภาษีตามสภาพ คือ ตามน้ำหนักมวนบุหรี่  หากวิธีคำนวณไหนมีมูลค่าภาษีมากกว่า  ก็ให้เก็บตามวิธีนั้น  ควรจะต้องมีระบบในการปรับอัตราภาษีตามสภาพเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 2 - 3 ปี และมีการตรวจสอบความถูกต้องของราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้งเพื่อประเมินภาษีอยู่เสมอ

 

ขณะที่  ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์   ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล  ชี้ว่า การบริโภคยาเส้นในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหา เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ เกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มาตรการการเก็บภาษียาเส้นที่บริโภคเป็นบุหรี่มวนเองไม่เคยถูกนำมาใช้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2555 ซึ่งมีการปรับขึ้นจากอัตรา 1 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม พบว่าให้ผลดีในการลดจำนวนผู้บริโภคบุหรี่มวนเองในประเทศไทย กว่า 1 ล้านคน คือจากผู้บริโภคบุหรี่มวนเอง 5.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2554 ลดเป็น3.6 ล้านคนในปี พ.ศ.2556 แต่บางคนหันไปบริโภคบุหรี่ซองราคาถูกแทน ทั้งนี้ผลที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการอื่น ๆ ที่ สสส. กระทรวงสาธารณสุข และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ดำเนินการระหว่างปี 2554-2556 ร่วมด้วย อาทิ เช่น การโฆษณาทางโทรทัศน์เรื่องยาเส้นตายเท่ากับบุหรี่ซอง และมาตรการชุมชนปลอดบุหรี่ เป็นต้น

ดังนั้นการดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสุขภาพ ควรปรับปรุงภาษีกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท รวมถึงยาเส้น โดยปรับขึ้นทั้งอัตราตามสภาพและอัตราตามปริมาณ เพื่อลดการเปลี่ยนประเภทไปบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกกว่า นอกจากนี้รัฐบาลควรนำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษี ไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร

และเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2557 นี้โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง  จะจัด ? โครงการ Stop Tobacco Stop Cancerเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ระหว่างเวลา 10.00 น. ? 15.00 น.ณ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีลำปาง ชั้น 2 กิจกรรมที่ดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่และสุขภาพ บุหรี่กับโรคมะเร็ง คำปรึกษาปัญหาสุขภาพและเทคนิคการเลิกบุหรี่ บริการตรวจสมรรถภาพปอดและบริการสุขภาพเบื้องต้น แจกเอกสารแผ่นพับสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ รับบริจาคโลหิตเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก กิจกรรมนันทนาการ และอื่น ๆ  ขอเชิญชวนชาวจังหวัดลำปางและทุกท่านที่สนใจ ร่วมเข้าร่วมโครงการได้ในวัน เวลาและสถานที่ดังกล่าว 

ข้อมูลจาก www.ashthailand.or.th/th/


ด้วยความปรารถนาดีจาก  โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง  ? ใส่ใจค้นหา  บำบัดรักษาโรคมะเร็งให้คุณ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 054 ? 335262 ? 8 ต่อ187

©2015, การจัดการความรู้

ออกแบบระบบและพัฒนาโดย งานศูนย์ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี
โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง